COLUMNIST

อัศจรรย์พันธุ์พืช "ยางพารา"
POSTED ON -


 

บรรดาพืชหลักที่รัฐเร่งส่งเสริมอันได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และยางพารา มีพืชเพียงชนิดเดียวที่อยู่ใกล้ชิดคนไทยมากที่สุด แต่รับประทานไม่ได้ เป็นตั้งแต่สิ่งปลูกสร้าง เฟอร์นิเจอร์หรู ยางรถยนต์ ถุงมือยาง และถุงยางอนามัย นั่นก็คือ "ยางพาราง"

 

นอกจากนี้ ต้นยางพารายังต้องรับหน้าที่เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลปลอดสารพิษและเป็น Wood Pellet ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงให้ความอบอุ่นในเมืองหนาว แต่ชาวสวนยางกลับประสบปัญหาราคายางตกต่ำจนต้องร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐ จากในอดีตที่รุ่งเรืองราคายางพารา 180 บาทต่อกิโลกรัม วันนี้เหลือแค่ 50 บาทกว่าๆ ต่อกิโลกรัม และนี่ความอัศจรรย์ของยางพารา

 

บทความนี้จะมาเจาะลึกถึงเรื่องของยางพารา พืชซึ่งไทยเป็นผู้นำตลาด ราคาในอดีตเริ่มจาก 20 บาทต่อกิโลกรัม ต่อมารัฐบาลสมัยนั้นมีการบริหารจัดการโดยใช้การตลาดนำ ประกอบกับความต้องการในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ทำให้ราคายางพาราก้าวกระโดดไปจนแตะที่ราคา 180 บาทต่อกิโลกรัม ล่อใจนักเก็งกำไรทั้งหลายพากันขยายฐานการเกษตรปลูกยางจนเกือบทั่วประเทศ มาวันนี้ราคายางพาราในตลาดโลกลดลง เทคโนโลยียางสังเคราะห์สูงขึ้น ความต้องการยางพาราธรรมชาติลดลง และขณะที่กำลังเขียนอยู่นี้ราคายางพาราอยู่ที่กิโลกรัมละ 54 บาท

 

ในขณะที่รัฐบาล คสช. ได้มีความพยายามอย่างสูงในการแก้ไขปัญหา 4 พืชหลัก ชาวพลังงานทดแทนก็แอบเชียร์อยู่เงียบๆ อันเนื่องมาจากพืชหลัก 4 ชนิด มีเศษเหลือทิ้งเป็นวัตถุดิบมีค่า (Feed Stock) สำหรับผลิตพลังงานทดแทน เป็นที่ทราบและยอมรับกันแล้วว่าพลังงานทดแทนไทยกว่าร้อยละ 80 มาจากพืชพลังงาน

 

Road Map… Road Map… คือคาถาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของไทย มีคุณประโยชน์ 2 ประการ คือ ถ้า Road Map ชี้ทางถูก ก็จะแก้ไขปัญหายางพาราระยะยาวได้ แต่ถ้าแผนที่นำทาง (Road Map) ชี้คลาดเคลื่อนก็ยังซื้อเวลาไปได้ สำหรับยางพาราแล้วเสมือนพืชสองชีวิต (2 lives) ชีวิตแรกยืนหยัดทำประโยชน์คู่ฟ้าเมืองไทยกว่า 20 ปี ด้วยน้ำยางคงคุณค่า ก่อนจะไปสู่ชีวิตที่ 2 เป็นไม้ยางพารา พลังงานอันมีค่า

 

ชีวิตที่ 1 (First Live) ต้นยางพารากว่า 19 ล้านไร่ทั่วประเทศช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และรักษาความชื้น ปรับสมดุลธรรมชาติ โดยมีชาวสวนยางกว่า 6 ล้านคนได้ทำหน้าที่แทนคนไทยอย่างสมบูรณ์ที่สุด ด้วยการปลูกยางพาราจนผลผลิตเป็นอันดับ 1 ของโลก

 

วันนี้จากกลางน้ำสู่ปลายน้ำคงต้องทำงานหนัก คงจะส่งออกน้ำยาง ยางแท่ง หรือยางแผ่นออกเกือบร้อยละ 90 ต่อไปอีกไม่ได้แล้ว หากดูจากข้อมูลของสถานบันวิจัยยาง สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จะเห็นได้ว่ามูลค่าของยางพาราเมื่อเป็นผลิตภัณฑ์สูงกว่าวัตถุดิบถึง 10 เท่า นอกจากนี้ ยางพารายังมีประโยชน์อีกอเนกอนันต์ ลองดูแนวคิด "เกษตร-พลังงาน" เป็นไปได้หรือไม่ที่ตลอด Value Chain จะมีการแบ่งปันรายได้เหมือนอ้อยหรือปาล์มน้ำมัน ซึ่งช่วงไหนราคาผลปาล์มล้นตลาดก็นำไปผลิตไบโอดีเซลเพิ่ม เป็นต้น

 

ชีวิตที่ 2 (Second Live) กว่า 20 ปีที่ต้นยางทำหน้าที่อย่างไม่มีโอกาสบ่น นานๆ จะได้ปุ๋ยอินทรีย์แทนสารเคมีสักครั้ง แต่ต้นยางพาราก็ไม่พ้นวัฏสงสาร เพียงแต่มีค่ากว่าร่างกายมนุษย์ยามสิ้นอายุไข ขอเริ่มต้นจากภาคใต้ก่อน ซึ่งปลูกยางกว่า 11 ล้านไร่ และเป็นต้นยางที่เริ่มหมดอายุกว่าปีละ 5 แสนไร่ ปัจจุบันมีการตัดอยู่ประมาณ 3 แสนไร่เพื่อปลูกต้นใหม่ทดแทน การตัดต้นยางตามอายุมีข้อดีคือ ลดปริมาณน้ำยางส่วนเกินและช่วยรักษาเสถียรภาพราคายางและเกิดชีวิตที่ 2 ของ Value Chain ยางพารา

 

เรามาเริ่มเรียนรู้เรื่องของต้นยางพาราไปพร้อมๆ กัน (ถูกบ้างผิดบ้างก็ขออภัย)

 

เมื่อต้นยางหมดอายุ (ให้น้ำยางน้อย) จึงจำเป็นต้องตัด ก่อนหน้านี้เป็นภาระของเจ้าของสวนยางพาราต้องว่าจ้างให้คนมาตัด เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 2,000 บาทต่อไร่ ปัจจุบันเจ้าของโรงเลื่อยต้องรับภาระการตัดและซื้อต้นยางดังกล่าวไร่ละ 30,000-40,000 บาทต่อไร่ นอกจากนั้น สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (กสย.) ยังจัดงบมาให้ไร่ละ 16,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับใส่ปุ๋ยและดูแลต้นยางพารา ซึ่งชาวไร่จะทยอยเบิกในช่วงเวลา 4 ปีที่ต้นยางยังเล็กและให้ผลผลิตไม่ได้ ทั้งนี้ ขอนำตัวเลขผลผลิตจากต้นยางพาราที่ชาวโรงเลื่อยหลายร้อยโรงในประเทศไทยใช้เป็นวัตถุดิบมาเล่าสู่กันฟัง

 

 

ในช่วงชีวิตที่สองของยางพาราแม้ว่าจะสั้นกว่าช่วงแรก แต่ก็ช่วยหล่อเลี้ยงธุรกิจตลอด Value Chain  ดังนี้

 

1. กรณีที่ตัดต้นยาง 3 แสนไร่ต่อปี ชาวไร่มีรายได้ไร่ละ 30,000 บาท จะเป็นเงิน 9,000 ล้านบาทต่อปี ถ้าตัด 5 แสนไร่ต่อปี ชาวไร่มีรายได้ 15,000 ล้านบาทต่อปี

 

2. เศษเหลือทิ้งจากไม้ยางพารา อาทิ กิ่งไม้ทำฟืนราคา 700 บาทต่อตัน, ปีกไม้ราคา 500 บาทต่อตัน, ไม้แปรรูปราคา 2,300 บาทต่อตัน, ขี้เลื่อยราคา 700 บาทต่อตัน และ รากไม้ 400 บาทต่อตัน หากตัดต้นยางพารา 5 แสนไร่ต่อปี จะเป็นเงินเท่าไหร่ ลองคำนวณดู

 

3. จากการประเมินมีผลผลิต 59 ตันต่อไร่ หากตัดต้นยางพารา 5 แสนไร่ต่อปี ผลผลิตรวมก็คือ 29.5 ล้านตันต่อปี คาดว่ามีการนำไม้ยางแปรรูปไปใช้ในงานก่อสร้างและผลิตเฟอร์นิเจอร์เพียง 50% ส่วนที่เหลือก็จะไปใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลและผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่งส่งออก ซึ่งคาดว่าจะมีเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าอีกปีละกว่า 10 ล้านตันต่อปี สำหรับโรงไฟฟ้าขนาด 1 MW จะใช้เชื้อเพลิงชีวมวลประมาณ 10,000 ตันต่อปี ดังนั้น ชีวมวลภาคใต้คงจะเหลือพอสำหรับโรงไฟฟ้ากว่า 1,000 MW สำหรับภาคอื่นๆ ต้นยางส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ครบอายุที่จะต้องตัด

 

สำหรับในภาคใต้ควรจะมีการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชีวมวลอย่างจริงจัง เพิ่มความมั่นคงด้านไฟฟ้า และดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินของไม้ยางพาราที่มีการตัดอย่างสม่ำเสมอทุกๆ ปี ปัญหาที่มีในขณะนี้ ก็คือ อัตราส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลของภาครัฐยังต่ำเกินไป ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน นอกจากนี้ ยังมีบริษัทที่ไปขอจำหน่ายไฟฟ้าไว้แล้ว แต่ไม่ดำเนินการเป็นจำนวนมาก ควรมีการยกเลิกใบอนุญาตบริษัทเหล่านี้ไปก่อน และเมื่อพร้อมลงทุนจึงมาขออนุญาตใหม่

 

สำหรับ Wood Pellet นาทีนี้ภาครัฐคงต้องตัดสินใจว่าจะเดินทางไหน ส่วนผู้ที่สนใจลงทุนก่อนตัดสินใจโปรดศึกษาข้อมูลรอบด้าน ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เนื่องจากขณะนี้ราคาส่งออกเชื้อเพลิงอัดแท่งหรือที่เรียกว่า Biomass Pellet นั้นค่อนข้างสูงประมาณ 140 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และอาจสูงถึง 150 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในบางเวลา จึงส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้าชีวมวลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ข้อดีของชีวมวลอัดแท่ง ก็คือ "ลงทุนน้อยคืนทุนเร็ว" จุดอ่อนคือ "ราคายังไม่มั่นคง" ภาครัฐจึงไม่ควรทุ่มใช้งบประมาณแข่งขันกับราคาส่งออกของ Biomass Pellet

 

ปัญหาราคายางตกต่ำวันนี้แท้จริงมาจากหลายสาเหตุ แต่ก็มีกูรูหลายท่านที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับยางพาราได้เล่าให้ฟังว่า อาจจะเกิดจากการที่ก่อนหน้านี้จีนซื้อยางพาราในราคาสูงต่อเนื่อง คนไทยจึงแห่กันปลูกทั่วประเทศ พอจีนลดการซื้อลง คนไทยปลูกไปแล้วก็คงต้องก้มหน้าขายราคาถูกๆ ดังเช่นปัจจุบัน หรือนี่เป็นกลยุทธ์การจัดซื้อระดับโลก ดังนั้น แฟนพันธุ์แท้ Wood Pellet ควรชั่งน้ำหนักดูว่านี่คือเกมการจัดซื้อของต่างประเทศหรือไม่

 

นอกจากนี้ ปัญหาราคายางพาราในระยะยาวยังอาจต้องเผชิญกับการที่บริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยหันไปส่งเสริมการปลูกยางพาราในประเทศเพื่อนบ้านด้วยเทคโนโลยีและพันธุ์ยางชั้นดี คงอีกไม่นานนักน่าจะส่งผลกระทบต่อราคายางพาราในประเทศไทย

 

คงได้เวลาแล้วที่ภาคเกษตรต้องหันมามอง "เกษตร-พลังงาน" จะทำอย่างไรให้ตลอด Value Chain มีการแบ่งปันตั้งแต่ชาวสวนยางจนถึงโรงไฟฟ้าให้มีความร่ำรวยเท่าๆ กัน ใครลงทุนลงแรงมากก็ได้มากแบบเศรษฐกิจพอเพียง ประเทศไทยเรามีทรัพยากรมากเพียงพออยู่แล้ว ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมก็ควรเดินหน้า “อุตสาหกรรมใหม่” เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร จะขายเป็นวัตถุดิบราคาถูกๆ เหมือนเดิมคงไม่ได้ เพิ่มวิสัยทัศน์ สร้างนวัตกรรม เสาะหาเทคโนโลยีดีๆ นำเข้ามาช่วยชาวสวนยางพาราให้หายจน